เราทุกคนย่อมเคยผ่านประสบการณ์ หูอื้อ กันมาแล้วทั้งนั้น บางคนเป็นบ่อยและมองข้ามไม่เข้ารับการตรวจเพื่อหาสาเหตุ เพราะบางทีที่เรา หูอื้อ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางชนิดก็ได้ ซึ่งหูอื้อนั้นสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยสาเหตุทั้งที่เกิดจากโรคหรืออาการบางอย่างภายในร่างกายและที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งนี้ อาการ หูอื้อ ที่เกิดจากสาเหตุภายนอกนั้นเราสามารถแก้ได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

  • กำจัดขี้หู

ขี้หูสามารถสร้างประโยชน์เพื่อป้องกันอวัยวะหูภายในได้และยังสามารถนำอันตรายมาสู่หูได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงควรสร้างสมดุลให้มีความพอดี ซึ่ง หูอื้อ สามารถมีสาเหตุการเกิดมาจากการที่ขี้หูมีจำนวนมากเกินไป ไม่เคยได้รับการทำความสะอาด จนสะสมเกิดเป็นก้อนใหญ่ และเข้าไปอุดตันรูหูซึ่งเป็นทางผ่านของเสียงได้ การกำจัดขี้หูจึงเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ทั้งนี้ การกำจัดขี้หูด้วยการแคะหูด้วยตัวเองโดยใช้อุปกรณ์ที่มีความแข็งก็เป็นอันตรายต่อหู ทางที่ดีควรเขา้พบแพทย์และให้แพทย์ช่วยกำจัดขี้หูออกให้ เพราะจะถูกวิธีและปลอดภัยมากกว่า

  • บีบจมูกหรือกลืนน้ำลาย

ในกรณีที่ หูอื้อ เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ มักจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงอย่างกะทันหัน เช่น ระหว่างปีนเขา การดำน้ำ หรือระหว่างที่เคร่องบินขึ้นหรือลง จนทำให้เกิดแรงดันที่แก้วหูและเนื้อเยื่อของหูชั้นกลาง เมื่อความดันอากาศที่หูชั้นกลางกับความดันอากาศภายนอกไม่เท่ากันจะทำให้เราแน่นตื้อหรือเจ็บภายในหู ซึ่งเราทุกคนเป็นกันบ่อยนัั้นสามารถแก้ได้ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Toynbee Maneuver คือ ให้เราบีบจมูกทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง เอามือที่บีบจมูกออก แล้วจึงกลืนน้ำลายอีก 1 ครั้ง การทำเช่นนี้จะช่วยให้ท่อยูสเตเชียนเปิดและปิด นอกจากนี้ในการขึ้นเครื่องเราสามารถใช้ที่อุดหูช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการหูอื้อได้ด้วย

  • รักษาโรคที่ทำให้หูอื้อ

ถ้าเรากำลังเผชิญกับโรคหรืออาการที่มีผลกระทบทำให้เกิดอาการ หูอื้อ เช่น หวัด เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเราจะต้องรักษาอาการที่เป็นสาเหตุนั้นให้หายดีเพราะจะทำให้อาการหูอื้อหายไปด้วย แต่ในกรณีที่ถ้าเราหายจากอาการที่คาดว่าเป็นสาเหตุแล้วแต่อาการหูอื้อ ยังคงอยู่ ควรรีบพบแพทย์โดยทันที เพื่อที่จะได้ตรวจหาว่ามีสาเหตุอื่นหรือไม่จะได้หาวิธีการรักษาที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

  • เปลี่ยนยาที่ใช้

หูอื้อ สามารถได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดได้ เช่น ยาแอสไพริน ยาแก้แพ้ ยาซูโดอีเฟดรีน ยาขับปัสสาวะ อย่าง บูมีทาไนด์ ยาต้านมาลาเรีย ยาปฏิชีวนะประเภทไมซิน และยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด การใช้ยาเหล่านี้เป็นระยะเวลานานจะส่งผลทำให้เกิดอาการหูอื้อได้ เราอาจจะต้องเปลี่ยนตัวยาเพื่อลดผลข้างเคียงที่กระทบการได้ยิน

นอกจากนี้แล้วอาการ หูอื้อ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าภายในร่างกายกำลังเกิดความผิดปกติ ดังนั้น เมื่อเริ่มรู้สึกว่าอาการ หูอื้อ มีความผิดปกติมากกว่าเดิม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาได้ทันท่วงที